วันพุธที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2559

♣เจดีย์ทรงระฆัง


         ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสังคมไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะอิทธิพลทางการเมืองของมหาอำนาจตำวันตก ในส่วนของพระพุทธศาสนาเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการกำเนิดนิกายธรรมยุติที่พระองค์ทรงสถาปนาขึ้น อย่างไรก็ตามนิกายใหม่นี้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางงานช่างไม่มากนัก การเปลี่ยนแปลงทางด้านศิลปกรรมจากตัวอย่างงานที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นนั้นกลับเป็นพระราชนิยมส่วนพระองค์มากกว่า และมีข้อสังเกตคือรูปแบบวัด พระเจดีย์ พระพุทธรูป หรือแม้แต่งานประดับตกแต่งจะแตกต่างจากงานในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งงานที่เป็นแบบพระราชนิยมอย่างจีนกำลังได้รับความนิยมอย่างมาก แต่พอมาถึงรัชกาลที่ 4 มีการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด โดยพระองค์ทรงหันกลับไปใช้แบบประเพณีนิยมที่มีมาแต่เดิม

         รูปแบบของเจดีย์ทรงระฆัง

         ส่วนฐาน
         เป็นฐานเขียงซ้อนกันหลายชั้นรอบรับฐานบัวคว่ำ-บัวหงาย 1 ฐาน

         ส่วนกลาง
         คือส่วนองค์ระฆังประกอบด้วยองค์ระฆังในผังกลมมีส่วนสำคัญที่บอกถึงรูปแบบเฉพาะของเจดีย์ทรงระฆังที่ถ่ายแบบมาจากเจดีย์สมัยอยุธยา คือ ส่วนรองรับองค์ระฆังที่เป็นชุดมาลัยเถา 3 เส้น ได้แก่ ลูกแก้วขนาดใหญ่ที่วางซ้อนกัน 3 วง แต่ลักษณะดังกล่าวก็จะต่างกันไปตามยุคสมัย กล่าวคือ รูปแบบของส่วนรองรับองค์ระฆังนี้เริ่มปรากฎมาแล้วตั้งแต่ศิลปะลังกา ในสมัยก่อนพศว.9 ทำเป็นฐานเขียง 3 ชั้นซ้อนกัน ต่อมาในศิลปะลังกาสมัยหลังพศว.9 จึงเริ่มเปลี่ยนมาเป็นชุดฐานบัวคว่ำ-บัวหงายที่ให้อิทธิพลมายังศิลปะพม่าและล้านนา ส่วนในสมัยสุโขทัยได้รับรูปแบบมาจากลังกาและปรับมาเป็นฐานบัวคว่ำ 3 ฐานเรียกว่า บัวถลา และส่งอิทธิพลต่อมายังศิลปะอยุธยาซึ่งนำมาปรับเป็นลูกแก้วขนาดใหญ่สามวงเรียกว่า มาลัยเถา

         ส่วนยอด
         มีบัลลังก์ในผังสี่เหลี่ยม และที่ก้านฉัตรมีเสาหารล้อมรอบ การมีเสาหารถือเป็นรูปแบบเฉพาะของเจดีย์ทรงระฆังในสมัยอยุธยาด้วยเช่นกัน เหนือบัลลังก์ขึ้นไป มีบัวฝาละมี ปล้องไฉน และปลี ตามรูปแบบของเจดีย์ทรงระฆังทั่วไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น